
เคยสังเกตกันหรือไม่ ว่าอยู่ดีๆร่างกายก็มีอาการอ่อนเพลีย มึนหัวง่าย หน้าซีด ผมร่วง หรือผิวแห้งผิดปกติขึ้นมาแบบไม่ทราบสาเหตุ ตัวอย่างอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณจากร่างกายที่บ่งบอกถึงภาวะขาดสารอาหารบางชนิดได้ แม้อาจจะไม่ได้ขาดรุนแรงจนเป็นอันตราย แต่หากเราทราบถึงสัญญาณเตือนจากอาการต่างๆในร่างกายของเรา คงเป็นผลดีกับร่างกายเราเป็นอย่างมากในการดูแลและบำรุงร่างกายให้กลับมามีสภาพเป็นปกติและแข็งแรงตามเดิม อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ จากการขาดสารอาหารในอนาคตได้อีกด้วย
วิธีสังเกตว่าร่างกายขาดสารอาหารหรือไม่ จากอาการผิดปกติต่างๆในร่างกาย
ตามหลักของโภชนาการนั้น เราสามารถประเมินความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาดสารอาหารบางชนิดได้จากอาการที่แสดงทางร่างกาย โดยอาการแสดงที่เราสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเองมีดังนี้
อาการแสดง | สาเหตุ |
ผมหลุดร่วงง่าย สีผมผิดไปจากสีธรรมชาติ | อาจได้รับโปรตีนและพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย |
ผมหรือขนตามผิวหนังขดเป็นเกลียว หรือขดอยู่ในรูขุมขน | อาจขาดวิตามินซี |
ผมบางลง | อาจได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ อาจขาดวิตามิน B7 (Biotin) และสังกะสี (Zinc) หรืออาจได้รับวิตามิน A มากเกินไป |
เกิดร่องขวางที่กลางเล็บ (Beau’s lines) | อาจได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ |
เล็บซีด หน้าซีด หรือเล็บรูปช้อน (เล็บมีลักษณะอ่อนและแบน หรือเล็บเงยขึ้นมีแอ่ง) | ขาดธาตุเหล็ก |
ผิวแห้ง หรือมีเม็ดตุ่มเล็กๆ สากๆ บนผิวหนัง (หนังคางคก) | อาจขาดวิตามิน A, C หรือกรดไขมันจำเป็น |
มีรอยช้ำ รอยจ้ำเขียวบนผิวหนัง | อาจขาดวิตามิน C หรือ K |
มองเห็นในที่ที่มีแสงน้อยได้แย่ลง เช่น มองทางในโรงหนังไม่เห็น | อาจขาดวิตามิน A |
ปากนกกระจอก ริมฝีปากแตก (ปากแห้ง แตก มีอาการอักเสบที่มุมปาก เป็นแผล อาจมีรอยแดงและบวม) | ขาดวิตามิน B2 (Riboflavin), B3 (Niacin) หรือ B6 (Pyridoxine) |
ลิ้นเลี่ยน ภาวะทิ่ลิ้นมีการฝ่อ หรือลดจำนวนของปุ่มรับรสบนลิ้น ทำให้ลิ้นเรียบมากขึ้น | ขาดวิตามิน B2 (Riboflavin), B3 (Niacin), B9 (Folate), B12, โปรตีน และ/หรือธาตุเหล็ก |
ลิ้นอักเสบ ภาวะที่ลิ้นมีอาการอักเสบ บวม เปลี่ยนสี | อาจขาดวิตามิน B2 (Riboflavin), B3 (Niacin), B6 (Pyridoxine), B9 (Folate) และ B12 |
รับรู้รส หรือได้กลิ่นน้อยลง | อาจขาดสังกะสี (Zinc) |
เหงือกบวม เลือดออกตามไรฟัน | ขาดวิตามิน C |
เป็นตะคริวได้ง่ายขึ้น | อาจขาดแคลเซียม และ/หรือแมกนีเซียม |
อ่อนเพลีย ปวดหัว เหนื่อยง่าย อาเจียน | อาจขาดวิตามิน B1 (Thiamin), B3 (Niacin), B9 (Folate) และ/หรือ B12 |
อย่างไรก็ตาม อาการแสดงเหล่านี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน หากมีอาการแสดงเหล่านี้รุนแรงหรือเป็นระยะเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
ความสำคัญของวิตามินและแร่ธาตุ และแหล่งอาหารที่สำคัญ
จากตารางอาการผิดปกติในร่างกายและสาเหตุที่เกิดอาการเหล่านั้นข้างต้น แสดงให้เห็นว่าวิตามินและแร่ธาตุที่ได้รับจากอาหารมีความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพให้เป็นปกติและแข็งแรง นอกจากนั้นสารอาหารเหล่านี้ยังช่วยรักษาสมดุลน้ำในร่างกาย และทำให้ระบบต่างๆในร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ เช่น ระบบประสาท ระบบเผาผลาญพลังงาน เป็นต้น โดยร่างกายสามารถได้รับวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้จากอาหารทั่วไปที่เรากินอยู่ทุกวันโดยไม่จำเป็นต้องทานอาหารเสริมเพิ่มเติมแต่อย่างใด
สารอาหาร | ตัวอย่างแหล่งอาหาร |
วิตามิน A | ไข่แดง ตับ ผักบุ้ง ตำลึง แครอท ฟักทอง |
วิตามิน B1 (Thiamin) | ตับ นม ธัญพืช ถั่วต่างๆ |
วิตามิน B2 (Riboflavin) | ตับ นม ธัญพืช ไข่ เนื้อแดง |
วิตามิน B3 (Niacin) | ปลาต่างๆ ไก่ เห็ด |
วิตามิน B6 (Pyridoxine) | ธัญพืช ตับ อกไก่ ปลาต่างๆ กล้วย |
วิตามิน B7 (Biotin) | ตับ ไข่แดง ถั่ว ปลาแซลมอน |
วิตามิน B9 (Folate) | ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง แอสปารากัส ไข่ ผักใบเขียว |
วิตามิน B12 | เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม |
วิตามิน C | ส้ม ฝรั่ง มะละกอ กีวี่ พริกหยวก |
วิตามิน K | ผักใบเขียวต่างๆ |
สังกะสี (Zinc) | หอยนางรม เนื้อสัตว์ต่างๆ ธัญพืช |
ธาตุเหล็ก | ตับ ไข่แดง เนื้อสัตว์ต่างๆ |
แหล่งอ้างอิง : Nutrition assessment หน่วยโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี