
การบริจาคเลือดเป็นหนึ่งในกิจกรรมทำความดีที่เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยความพยายามใดๆ เพียงแค่ร่างกายพร้อม ใจพร้อม เราก็สามารถทำบุญช่วยเหลือผู้ป่วยได้แล้ว ถือเป็นการทำความดีที่เรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่มากๆ แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า แม้ว่าการบริจาคเลือดจะไม่ต้องการความสามารถหรือความพยายายามใดๆ แต่เราควรเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อให้การบริจาคเลือดนั้นผ่านไปได้ด้วยดี ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเลือดที่ได้มาไม่มีปัญหาในภายหลัง ดังข้อแนะนำต่อไปนี้
- มีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 45 กิโลกรัม
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยที่สุดควรนอนหลับอย่างเต็มอิ่ม 6 ชั่วโมง
- ร่างกายปกติแข็งแรง ไม่ป่วยเป็นไข้หวัด ไอ มีน้ำมูก เสมหะ หรือมีร่างกายอ่อนเพลีย
- ไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ยาแก้อักเสบ หากจะมาบริจาคเลือด ต้องหยุดยามาแล้วอย่างน้อย 7 วัน
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะจะทำให้ไม่สามารถนำเลือดไปใช้รักษาผู้ป่วยได้จากการมีไขมันในเลือด
- ดื่มน้ำประมาณ 3-4 แก้ว (เท่ากับปริมาณเลือดที่จะบริจาค) ก่อนบริจาคเลือด 30 นาที จะช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้นในขณะบริจาค และยังช่วยป้องกันการเป็นลมได้อีกด้วย
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนบริจาคเลือดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง การมีแอลกอออล์ในเลือดจะไม่สามารถนำเลือดไปใช้รักษาผู้ป่วยได้
- งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคเลือด 1 ชั่วโมง เพื่อทำให้ปอดทำงานฟอกเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- หลังบริจาคเลือด ให้นอนพักจนแน่ใจว่าร่างกายเป็นปกติ ไม่รู้สึกวิงเวียนหรือเป็นลม และพักทานอาหารและเครื่องดื่มที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ โดยอาหารและเครื่องดื่มที่เตรียมให้จะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูง เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายจากการเสียเลือดได้เร็ว
- พักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดวัน เลี่ยงกิจกรรมที่ใช้กำลังเยอะ
- ทานธาตุเหล็กที่ศูนย์รับบริจาคเลือดจัดเตรียมให้วันละ 1 เม็ดจนหมด รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ ไข่แดง เนื้อสัตว์ต่างๆ ร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซีสูงเพื่อช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น ป้องกันการขาดธาตุเหล็ก และชดเชยเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคเลือด และสามารถที่จะบริจาคเลือดได้อีกครั้ง
- งดการทานยาธาตุเหล็กหรืออาหารที่มีธาตุเหล็กสูงควบคู่กับนมหรือชา เพราะแคลเซียมในนม และสารออกซาเลตในชาจะไปขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็กได้
แหล่งอ้างอิง : https://blood.redcross.or.th/content/การเตรียมตัวก่อน–หลัง